วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มารู้จักกับเขตแพร่ กันเถอะ!!!

สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดแพร่

ประวัติความเป็นมา จ.แพร่ 





สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดแพร่

           เมืองแพร่เป็นเมืองโบราณ อายุประมาณ 1,000 ปี เริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นเมืองประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 หลังจากการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่และสุโขทัย ซึ่งตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จารึกเอาไว้ว่าเมืองแพร่เคยเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย มีชื่อว่า “เมืองแพล” ต่อมาสมัยขอมเรืองอำนาจได้เปลี่ยนชื่อเมืองแพลเป็น “เวียงโกศัย” ซึ่งแปลว่า ผ้าแพร และต่อมาเปลี่ยนเป็นเมืองแพร่ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเปลี่ยนตั้งแต่สมัยใดซึ่งชาวล้านนา นิยมออกเสียงเป็น “เมืองแป้”  ชื่อ “เวียงโกศัย” น่าจะมาจากชื่อดอยที่เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองแพร่ คือ ดอยโกสิยธชัคบรรพต หมายถึง ดอยแห่งผ้าแพร เมืองแพล เป็นชื่อที่ปรากฎ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ด้านที่ 4 โดยคำว่า แพล น่าจะมาจากศรัทธาของ ชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือช่อแฮที่สร้างขึ้น ภายหลังการสร้างเมืองต่อมาจึงได้เรียกชื่อ เมืองของตนว่า เมืองแพล และได้กลายเสียงเป็นเมืองแพร่ปัจจุบัน
          จากตำนานเมืองเหนือเมืองแพร่มีชื่อเดิมว่า “พลนคร” หรือ “เมืองพล” และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองแพล และในสมัยขอมเรืองอำนาจราว พ.ศ.470 – 1560 พระนางจามเทวีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนในเขตล้านนา ได้เปลี่ยนชื่อเมืองแพลเป็น “โกศัยนคร” หรือ “นครโกศัย” หรือ “เวียงโกศัย” ซึ่งแปลว่า ผ้าแพร นับตั้งแต่นั้นมาได้มีผู้ครอบครองสืบเนื่องกันต่อมาหลายสมัย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนมาปกครองจากเจ้าผู้ครองนครเป็นเทศาภิบาลในปี พ.ศ.2440 และได้โปรดเกล้าให้พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ไปเป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2445 พวกเงี้ยวที่อาศัยอยู่ในเมืองแพร่ได้ก่อความวุ่นวายขึ้น โดยได้บุกยึดสถานที่ราชการที่สำคัญ เช่น ศาลากลางจังหวัดและไปรษณีย์ เป็นต้น และได้ปล้นเงินคลังของจังหวัด ตลอดจนปล้นนักโทษออกจากเรือนจำ ซึ่งพระยาไชยบูรณ์ได้ทำการต่อสู้ปกป้องจากพวกเงี้ยวอย่างเต็มความสามารถ แต่ก็ถูกพวกเงี้ยวจับตัวได้และบังคับให้ลงนามยกเมืองให้ ซึ่งพระยาไชยบูรณ์ไม่ยอม พวกเงี้ยวจึงได้นำตัวไปตัดศีรษะที่บ้านร่องกาศ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) นำทัพหลวงและกองทัพจากเมืองใกล้เคียงทำการปราบปรามพวกเงี้ยวได้อย่างราบคาบ
สภาพทั่วไปของจังหวัดแพร่
          จังหวัด แพร่เป็น 1 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งเหนือที่ 14.70 ถึง 18.44 องศา กับเส้นแวงที่ 99.58 ถึง 100.32 องศา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 155 เมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงหมายเลข 11 และ 101  ประมาณ 555 กิโลเมตร และทางรถไฟ 550 กิโลเมตร (ถึงสถานีรถไฟเด่นชัย)  มีเนื้อที่ประมาณ 6,538.59 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 4,086,625  ไร่ และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ 

                        ทิศเหนือ                 ติดต่อกับจังหวัดพะเยาและจังหวัดลำปาง 
                        ทิศตะวันออก         ติดต่อกับจังหวัดน่าน 
                        ทิศใต้                     ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดสุโขทัย 
                        ทิศตะวันตก           ติดต่อกับจังหวัดลำปางและจังหวัดสุโขทัย 

   สภาพทางภูมิศาสตร์

                 พื้นที่ จังหวัดแพร่ล้อมรอบด้วยภูเขาทั้ง 4 ทิศ พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เป็นภูเขา มีพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 20 โดยลาดเอียงไปทางทิศใต้ตามแนวไหลของแม่น้ำยม คล้ายก้นกระทะ พื้นที่ราบของจังหวัดจะอยู่ระหว่างหุบเขา มี 2 แปลงใหญ่ คือ ที่ราบบริเวณพื้นที่อำเภอร้องกวาง อำเภอเมือง อำเภอสูงเม่น และอำเภอเด่นชัย ซึ่งเป็นที่ราบแปลงใหญ่ และอีกหนึ่งแปลง คือ บริเวณที่ตั้งอำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น ซึ่งที่ราบดังกล่าว ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และทำการเกษตร 

ที่มา : ที่ทำการปกครองจังหวัดแพร่ (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2552)